logo

คำถามจาก วิกิโรค

Home / FAQ โรค/ ซิฟิลิส (Syphilis)

คำถามเกี่ยวกับโรค

โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล

เรื่อง : ซิฟิลิส (Syphilis)

โรคซิฟิลิส (Syphilis) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โรคหนึ่งซึ่งสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้ในระยะยาวอาจแสดงอาการในหลายระบบของร่างกาย เช่น ระบบประสาท ผิวหนัง ตา กระดูก ระบบหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น

โรคซิฟิลิสเกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ ทริปโปนีมา พัลลิดุม (Treponema pallidum) เชื้อชอบอยู่ในที่มีความชื้นและตายได้ง่ายในที่มีความแห้ง ถูกทำลายได้ง่ายด้วยสบู่หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ เชื้อมีระยะฟักตัวประมาณ 2 - 4 สัปดาห์หรืออาจนานถึง 3 เดือน

ระยะที่ 1: เมื่อได้รับเชื้อ บริเวณที่ได้รับเชื้อ เช่น บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอก ริมฝีปาก ลิ้น ต่อมทอนซิล หัวนม

  • จะเริ่มมีตุ่มเล็กๆ ขนาดประมาณ 2 - 4 มิลลิเมตร
  • จากนั้น ตุ่มจะเริ่มขยายออกมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และจะแตกออกกลายเป็นแผลที่กว้างขึ้น เป็นรูปไข่หรือวงรี ขอบมีลักษณะเรียบและแข็ง แผลมีลักษณะสะอาด บริเวณก้นแผลแข็งมีลักษณะคล้ายกระดุม ไม่มีอาการเจ็บ ปวด
  • ต่อจากนั้น เชื้อจะเข้าไปอยู่ที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบ ส่งผลให้มีต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโต
  • เมื่อทิ้งไว้แผลที่เกิดขึ้น สามารถหายไปได้เองโดยไม่ต้องรักษา ระยะนี้เป็นระยะที่ยังไม่แสดงอาการ

ระยะที่ 2: จะพบหลังการเป็นโรคระยะแรก 2 - 3 สัปดาห์ เชื้อซิฟิลิสจะเข้าไปอยู่ตามต่อมน้ำเหลืองทั่วร่างกาย เช่น บริเวณหลังหู หลังขาหนีบ และขาพับ และเข้าไปสู่กระแสเลือด รวมทั้งกระจายไปตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ทำให้

  • เกิดผื่นขึ้นตามร่างกาย หรือเรียกว่า “ระยะออกดอก” ผื่นที่พบมีความแตกต่างจากผื่นลมพิษทั่วไป เพราะผู้ป่วยจะมีผื่นขึ้นที่บริเวณฝ่ามือด้วย และจะไม่มีอาการคัน ผื่นมีลักษณะเป็นตุ่มนูน และอาจพบมีเนื้อตายจากผื่นเป็นหย่อมๆ และพบเนื้อเน่าหลุดออกมา มีน้ำเหลือง และในน้ำเหลืองจะมีเชื้อซิฟิลิส
  • ระยะนี้เป็นระยะที่ติดต่อได้โดยง่าย
  • ผู้ป่วยบางรายอาจจะไม่มีผื่นขึ้นเลย แต่อาจจะมีอาการ มีไข้ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามข้อ ผมร่วงทั่วศีรษะหรือร่วงเป็นหย่อมๆ
  • เมื่อทำการตรวจเลือดในระยะนี้ จะพบว่ามีผลบวกของเลือดสูงมาก ถ้าผู้ป่วยยังไม่ได้รับการรักษา โรคจะอยู่ใน “ระยะสงบ” โดยเชื้อจะไปหลบซ่อนตามอวัยวะต่างๆ ในร่างกายและจะไม่แสดงอาการได้นานหลายปี เพียงแต่ตรวจเลือดให้ผลบวกเท่านั้น

ระยะที่ 3: เป็นระยะสุดท้ายของโรค หรือ ‘ระยะแฝง’ เมื่อไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ผู้ป่วยจะเข้าสู่ระยะที่ 3 ประมาณ 3 - 10 ปีหลังจากระยะที่ 1 โดยมีอาการตามระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น ตาบอด เนื้อจมูกถูกทำลายจนเป็นรอยโหว่ หูหนวก ใบหน้าผิดรูป กระดูกผุบาง อาจมีสติปัญญาเสื่อม บางรายอาจมีการแสดงออกที่ผิดปกติคล้ายคนเสียสติ ถ้าเชื้อไปอยู่ที่หัวใจก็จะทำให้หัวใจมีความผิดปกติ ลิ้นหัวใจรั่ว หลอดเลือดแดงใหญ่ที่ออกจากหัวใจมีลักษณะโป่งพอง ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจวายได้ ถ้าเชื้อเข้าไปอยู่ที่ไขสันหลังก็จะทำให้เป็นอัมพาตและมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

  • การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นโรคนี้ในระยะที่ 1 และ
  • ถ้าสัมผัสกับน้ำเหลืองที่ผิวหนังของผู้ที่เป็นโรคนี้ในระยะที่ 2 (ระยะออกดอก) ก็มีโอกาสที่จะรับเชื้อได้เช่นกัน
  • ในทารกที่ได้รับเชื้อผ่านมาจากมารดาโดยตรงโดยผ่านจากทางรก ก็จะมีอาการแสดงแต่กำเนิด
  • ส่วนโรคในระยะที่ 3 มักเป็นระยะที่ไม่มีการติดต่อ

เชื้อซิฟิลิส สามารถผ่านรกไปสู่ทารกในครรภ์ ทำให้เกิดอันตรายต่อทารกแรกคลอด โดยทารกจะมีภาวะซิฟิลิสแต่กำเนิด ซึ่งพบความพิการผิดปกติ เช่น ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ ตาบอด สมองเล็ก ตัวบวมน้ำ กระดูก ฟัน และจมูกยุบ นอกจากนี้ทารกจะมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในช่วงแรกคลอดจากภาวะหัวใจล้มเหลวได้